วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ประวัติหลวงปู่จันทร์ เขมจาโร วัดประชาสามัคคี จ.สุรินทร์


    มีชาติกำเนิดในสกุล “ หอมหวล ”  เดิมชื่อ แก่นจันทร์ เกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ตรงกับวันจันทร์ แรม 5 ค่ำ เดือนอ้าย ปีวอก  เกิดที่บ้านหนองขอน ต.เบิด อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ โยมบิดา ชื่อ นายเอี่ยม หอมหวล โยมมารดา ชื่อ นางหวัน หอมหวล  มีพี่น้อง 9 คนท่าน เป็นบุตรคนที่7

ปฐมวัยและการศึกษา
   สมัยบิดามารดา ยังมีชีวิตอยู่ มีอาชีพเกษตรกรค้าวัวค้าควาย ท่านได้ติดตามพ่อ ไปทำงานอย่าง ไม่ย่อท้อ เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ท่านได้บวชบรรพชา และได้ศึกษาจบนักธรรมชันตรีที่ วัดศรีบุญเรืองบุตราราม บ้านหนองเหมือดแอ่ ต.หนองเรือ อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู  ปี พ.ศ.2497
จบนักธรรมชั้นโท ที่วัดเขาถ้ำบุญนาค ปี พ.ศ.2535
จบนักธรรมชั้นเอก ที่วัดประชาสามัคคี ปี พ.ศ.2536
จบปริญญาตรี มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ปี พ.ศ.2553
จบปริญญาโท ปี พ.ศ.2556 ที่เฉลิมกาญจนาภิเษก
ได้เลื่อน สมณศักดิ์เป็นพระครู ปี พ.ศ.2555 เป็นที่ปรึกษา เจ้าคณะตำบลเบิด ปัจจุบัน จำพรรษา 62 พรรษา สิริอายุ 83พรรษา


สู่เพศพรหมจรรย์‬

เมื่อท่านอายุได้ 20 ปี ก็ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดศรีนารมณ์ บ้านม่วงหมาก ต.ธาตุ อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ โดยมีพระครูรัตนพุทธิคุณ พระมหาเขียว ธมฺมทินโน ( หลวงปู่เขียว ) เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีธาตุ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาสำลี  พระอาจารย์เสาร์เป็นพระกรรมวาจา ในปี พ.ศ.2495 โดยได้รับ ฉายา “ เขมจาโร ” เเปลว่า ผู้ปฎิบัติอันเกษม ในพรรษาแรกๆได้มาจำพรรษาที่ วัดอีสาน บ้านหมกเต่า  โดยมี พระเถราจารย์ ผู้มากด้วยวิชาวิปัสสนาญาณ พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบคือ หลวงปู่สี ฉันทสิริ

ฝากตัวเป็นศิษย์‬

หลวงปู่จันทร์ ท่านน้อมกายฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่สี เพื่อขอเรียนวิชาปฏิบัติกรรมฐาน และสายวิชาต่างๆ สมัยนั้นท่านถือธุดงค์มุ่งปฏิบัติเป็นหลัก เพราะต้องคอยดูแลตามรับใช้หลวงปู่สี ในการออกธุดงค์ ไปมาระหว่างหนองบัวลำภู กับ สุรินทร์ และ วัดอีสาน บ้านหมกเต่า หลวงปู่จันทร์ ท่านเดินธุดงค์ ไปทั่วประเทศไทยจากเหนือถึงใต้ จากออกถึงตก ท่านไปมาทั้งหมด ท่านเคยธุดงค์ไปฝั่งลาว เข้าประเทศพม่า เลยไปประเทศอินเดีย ไปนมัสการสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา การปฏิบัติของท่านในช่วงธุดงค์อยู่นั้น เป็นไปอย่างเอาจริงเอาจัง ยอมมอบกายถวายชีวิตไว้กับป่าเขา ในการประพฤติปฏิบัตินั้น จำต้องยอมมอบกายถวายชีวิตลงไป ดังที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า (“ถ้ามันไม่ดีหรือไม่ได้พบความจริงก็ ให้มันตายถ้ามันไม่ตายก็ให้มันดี หรือได้พบกับความจริง”)
    ดังนั้น อุปสรรคต่างๆ จึงกลับเป็นปัจจัยช่วยให้จิตใจของผู้ปฏิบัติแข็งแกร่งขึ้นเป็นลำดับ ท่านยังเล่าว่า ครั้งนึงเดินธุดงค์ไปในป่า ยุงชุมมาก ท่านก็ติดตามหลวงปู่สีไปกับคณะพระสงฆ์อีกหลายรูป ถือปฏิบัติสมาธิ เดินจงกลม แต่ด้วยในป่ามียุงชุม พระหลายๆรูป ถึงกับอยู่ไม่ได้ เพราะโดนยุงรังควาน โดนกัดคันไปทั้งตัว แต่หลวงปู่สี กับนิ่งเฉย พร้อมพูดออกมาว่า “ที่นี่ไม่มียุง ยุงไม่มี” หลวงปู่จันทร์ ท่านก็บอกหลวงปู่สีว่า “หลวงปู่ครับ พระที่ตามมานั้นอยู่กันไม่ได้เลย ทำไมหลวงปู่บอกไม่มียุงล่ะ” หลวงปู่สี นิ่งเฉยไม่พูดอะไร เพียงแต่นั่งปฏิบัติกรรมฐานเพียงอย่างเดียว หลังจากหลวงปู่สี ท่านสุขภาพอ่อนลงด้วยวัยชรา จึงหยุดการธุดงค์ ก่อนที่จะมาอยู่ที่วัดเขาถ้ำบุญนาค อ.ตาคลี นั้น หลวงปู่สีท่านอยู่ที่วัดหนองลมพุก อ.โนนสังข์ จ.หนองบัวลำภู ขณะนั้นได้มีพระครูนิวิฐปริยัติคุณ พร้อมด้วยชาวบ้านได้พากันมานิมนต์หลวงปู่สี เพื่อไปช่วยกันสร้างวัดให้เจริญ หลวงปู่จันทร์ท่านก็ได้ติดตามไปคอยปฎิบัติ ดูแล อุปัฏฐากหลวงปู่สี ในระหว่างปี 2510 - 2512 ท่านได้จำพรรษา ที่วัดเขาถ้ำบุญนาค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ จนกระทั่งหลังจากหลวงปู่สี ท่านมรณภาพ ลงในปี พ.ศ.2520 ตรงกับวันที่ 23 กุมภาพันธ์

กลับมาบ้านเกิดเพื่อสร้างวัด

หลวงปู่จันทร์ท่านได้ย้ายกับมาบ้านเกิด  โดยจำพรรษาที่วัดอีสาน บ้านหมกเต่า เป็นเวลาอยู่หลายปี หลังจากนั้นท่านได้หาซื้อที่ดิน เพื่อสร้างวัดขึ้น เมื่อปีพ.ศ. 2536 ในสมัยแรกๆ นั้น ยังเป็นเพียง สำนักสงฆ์สามัคคีจันทราราม  ท่านได้พัฒนาสำนักสงฆ์จนกลายเป็นวัดขึ้น ในปี พ.ศ.2543 ได้ชื่อว่า “วัดประชาสามัคคี”  หลวงปู่จันทร์ ท่านเป็นพระผู้ปฎิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามวัตรปฏิบัติที่ดีงามเหมือนอาจารย์ท่าน คือ หลวงปู่สี ฉฺนทสิริ จึงทำให้ชาวบ้านในละแวกนั้น พบเห็นแล้วต่างเลื่อมใสศรัทธามากยิ่งขึ้น
หลวงปู่จันทร์ ท่านไม่เคยออกปากให้ใครช่วยเหลือท่าน แม้กระทั่งเรื่องการสร้างวัด ท่านมุ่งแต่ปฏิบัติ เพื่อบรรลุธรรม จนทำให้เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใส จากประชาชนและชาวบ้านบริเวณแถบนั้น จึงทำให้เกิดพลังศรัทธาที่ก่อกำเนิดขึ้น และใครที่นำเงินบุญมาถวายให้กับท่าน ท่านก็จะนำเงินบุญนั้น ไปสร้างวัดและซ่อมแซมอยู่ตลอด หลวงปู่จันทร์ท่านไม่ชอบเก็บสะสม ท่านถือสมาถะ ปัจจุบัน วัดที่ท่านสร้าง มีศาลาการเปรียญ ๑หลัง เมรุ กฏิสงฆ์ ๕หลัง และโบสถ์ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ยังไม่แล้วเสร็จ

วัตรปฏิบัติของท่าน‬

    หลวงปู่จันทร์ ท่านจะธรรมวัตรเช้า ทุกวัน เวลาตี 4 และ ธรรมวัตรเย็น เวลา5 โมงเย็น  บทสวดที่ใช้ในการทำวัตร หลวงปู่จันทร์  ท่านมักจะใช้บทเดียวกับหลวงปู่สี อาจารย์ของท่าน โดยใช้บท “ กรณียเมตสูตร” หลวงปู่จันทร์ท่านเป็นพระปฏิบัติ มักชอบสอนธรรมะ หลังจากที่ทำวัตรเย็นเสร็จ ท่านจะนั่งสมาธิปฏิบัติ และ นั่งอบรม พระลูกวัด อยู่เป็นประจำ คำสอน ของท่าน คือ” รู้รักสามัคคี ที่จะนำไปสู่ความเจริญ ก้าวหน้า “ หลวงปู่จันทร์ท่าน ถือสมาถะ กินง่ายอยู่ง่าย ส่วนหมากพลูนั้น ถ้ามีคนนำไปถวายท่านก็จะฉัน ไม่มีท่านก็ไม่ฉัน ท่านไม่ชอบพูด แต่ถ้าใครชวนคุยเรื่องธรรมะ ท่านจะชอบสอน และคุยอย่างสนุกสนาน แต่อย่าไปถามเรื่องที่ท่านไม่ชอบ คือ เรื่องที่ผิดวินัยสงฆ์ ท่านจะเงียบทันที งานบุญที่ท่านสร้างอยู่ปัจจุบันนี้ คือ พระอุโบสถ์ ที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และ การพัฒนาวัดของท่าน

อุบายธรรม‬

    หลวงปู่จันทร์ท่านเป็นพระที่มีอุบายธรรมลึกซึ้ง สามารถขัดเกลาจิตใจคนอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่เร่งรัดเอาผล เช่นครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์มากราบนมัสการและได้สนทนาธรรมกับท่าน สักพักหนึ่ง ท่านได้พูดธรรมะแฝงมาในบทสนทนาในครั้งนั้นว่า

“จงให้รู้จักปฏิบัติ ปฏิบัติจิต ปฏิบัติใจ ใจคิดดีก็ได้ดี ใจคิดชั่วก็ได้ชั่ว สิ่งสำคัญคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ”

"ศีล" คือความสำรวม กายวาจาใจ
"สมาธิ" คือความตั้งมั่น
"ปัญญา" คือความรอบรู้

ถ้าตัวเรารู้ตัวเองแล้ว เรารู้คนอื่นแล้ว ควรนิ่งเฉย เพราะว่าเวลานี้เราทำดี แต่เวลาหน้าเราไม่รู้ เราจึงควรวางเฉย ให้เป็นหน้าที่ของเขา เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด  หลวงปู่จันทร์ท่านมีแนวทางการสอนธรรมะที่เรียบง่าย ฟังง่าย ชวนให้ติดตามฟัง ท่านนำเอาสิ่งที่เข้าใจยากมาแสดงให้เข้าใจง่าย เพราะท่านจะยกอุปมาอุปไมย ประกอบในการสอนธรรมะจึงทำให้ผู้ฟังเห็นภาพและเกิดความเข้าใจในธรรมที่ท่านนำมาแสดง แม้ว่าท่านมักจะออกตัวว่า “ฉันจะโกหกพวกเธอนะ พวกเธอจะฟังไหม” แต่สำหรับบรรดาศิษย์ทั้งหลาย คงไม่อาจปฏิเสธว่า สิ่งที่ท่านกล่าวมานั้น เป็นเรื่องที่สอนให้เข้าถึงจิตใจได้เลยทีเดียว อีกประการหนึ่ง ด้วยความที่ท่านมีรูปร่างลักษณะเป็นที่น่าเคารพ เลื่อมใส เมื่อใครได้มาพบเห็นท่านด้วยตนเอง และ ถ้ายิ่งได้สนทนาธรรมกับท่านโดยตรงก็จะยิ่งเพิ่มความเคารพเลื่อมใสและศรัทธาในตัวท่านมากขึ้นเป็นทวีคูณ หลวงปู่จันทร์ท่านสอนให้มีปฏิปทาสม่ำเสมอท่านว่า

“ทำดี ทำจริง ซื่อสัตย์ สุจริต ใจดีเกิดกุศล ใจไม่ดีก็เกิดบาป”

การสอนของท่านนั้นมิได้เน้นแต่เพียงการนั่งหลับตาภาวนา หากแต่หมายรวมไปถึงการกำหนดลมหายใจ กำหนดรู้ และพิจารณาสิ่งต่างๆ ในความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านชี้ให้เห็นถึงสังขารร่างกายที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ให้นึกถึงความตายตลอดเวลา ท่านได้ใช้คำกล่าวกำหนดรู้ กำหนดรู้ลมหายใจว่า

“หายใจเข้ายังอยู่ หายใจออกตายแล้ว”
Share this post

0 ความคิดเห็น

:) :-) :)) =)) :( :-( :(( :d :-d @-) :p :o :>) (o) [-( :-? (p) :-s (m) 8-) :-t :-b b-( :-# =p~ :-$ (b) (f) x-) (k) (h) (c) cheer

 
Posts RSS Comments RSS Back to top
© 2011 ใต้ร่มไม้พระเครื่อง ∙ Designed by BlogThietKe
Released under Creative Commons 3.0 CC BY-NC 3.0